ประวัติความเป็นมา ชัยนาท แปลตามศัพท์ที่มีความหมายว่า ชัยชนะที่มีชื่อเสียงบันลือ เป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่ง ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ปากคลองแพรกศรีราชาใต้ปากลำน้ำเก่า ตั้งขึ้นหลังเมืองพันธุมวดี (สุพรรณบุรี) เป็นเมืองหน้าด่านของสุโขทัย สร้างในสมัยพระยาเลอไทยแห่งกรุงสุโขทัย ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๖๐ – ๑๘๗๙ เมืองนี้จึงได้ชื่อว่า “เมืองแพรก” หรือ “เมืองสรรค์” มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านทางใต้ เมื่อกรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง เมืองแพรกได้กลายเป็นเมืองหน้าด่านทางตอนเหนือของกรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้เกิดชุมชนใหม่ไม่ไกลจากเมือง มีเจ้าสามพระยาเป็นผู้ครองเมือง ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ เมืองที่เกิดขึ้นใหม่นี้มีชื่อว่า ชัยนาท ในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ได้ย้ายตัวเองออกจากบริเวณแหลมยางมาตั้งตรงฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนเมืองสรรค์นั้นเสื่อมลงเรื่อยๆ เพราะผู้คนได้อพยพมาอยู่ที่ชัยนาทเป็นส่วนใหญ่ ในที่สุดก็กลายเป็นเพียงอำเภอหนึ่งของชัยนาทเท่านั้น ชัยนาท เป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เคยใช้เป็นที่ตั้งทัพรับศึกพม่าหลายครั้ง และมีชัยชนะทุกครั้งไป จึงเป็นที่มาของชื่อเมืองชัยนาทแห่งนี้ นอกจากชัยนาทจะเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน แต่ปัจจุบันชัยนาทก็มีชื่อเสียงและมีสินค้าด้านหัตถกรรม การจักสาน การปั้น การทอ การทำเครื่องเบญจรงค์ที่มีฝีมือประณีต รูปแบบทันสมัย ราคาย่อมเยา มีตลาดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยฝีมือของชาวบ้านกลุ่มต่างๆ อีกด้วย ชัยนาทมีเนื้อที่ประมาณ ๒,๔๖๙.๗๔ ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองเป็น ๘ อำเภอ คือ อำเภอเมืองชัยนาท อำเภอหันคา อำเภอมโนรมย์ อำเภอสรรคบุรี อำเภอสรรพยา อำเภอวัดสิงห์ อำเภอหนองมะโมง และอำเภอเนินขาม อาณาเขต ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดอุทัยธานี และนครสวรรค์ ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดสิงห์บุรี และสุพรรณบุรี ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดนครสวรรค์ และสิงห์บุรี ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดอุทัยธานี และสุพรรณบุรี |
วันจันทร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2560
ประวัติชัยนาท
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น