วันจันทร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2560

ประวัตินครราชสีมา

จังหวัดนครราชสีมา หรือรู้จักในชื่อ โคราช เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทยและมีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตติดกับจังหวัดขอนแก่น จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี จังหวัดนครนายก จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดสระแก้ว
ประวัติศาสตร์

 สมัยก่อนประวัติศาสตร์

จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า มีชุมชนโบราณซึ่งเป็นร่องรอยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคหินใหม่ต่อเนื่องมาถึงยุคสำริด และยุคเหล็ก กระจายอยู่ทั่วไปในจังหวัดนครราชสีมา โดยมีแหล่งโบราณคดีที่สำคัญคือ ชุมชนบ้านปราสาท ชุมชนบ้านโนนวัด แหล่งภาพเขียนสีเขาจันท์งาม ซึ่งกำหนดอายุได้ประมาณ 4,500 ปีมาแล้ว

ครั้นถึงสมัยประวัติศาสตร์ ได้เกิดมีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเสมา ตั้งอยู่บริเวณอำเภอสูงเนินในปัจจุบัน เป็นเมืองใหญ่เชื่อกันว่าเป็นที่ตั้งของรัฐศรีจนาศะ ต่อมาในสมัยขอมพระนครมีการสร้าง เมืองโคราช หรือ นครราช อยู่ในบริเวณเดียวกัน และ มีเมืองพิมายเป็นเมืองสำคัญของขอมในบริเวณนี้

มีผู้เสนอว่าอาจมีความเป็นไปได้ที่ เมืองนครราช คือเมืองเดียวกันกับเมืองราด ของพ่อขุนผาเมือง เนื่องจากมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเมืองพระนครหลายประการ นอกจากนี้รูปสลักกองทัพชาวสยามบนระเบียงด้านหนึ่งของ นครวัด อาจเป็นชาวสยามจากลุ่มแม่น้ำมูลที่เกี่ยวข้องกับเมืองนครราช และยังมีการกล่าวถึงเมืองนครราชสีมาในพงศาวดารของกัมพูชาหลายครั้งด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีมุมมองอีกด้านหนึ่งก็ว่า นครราชสีมา นั้นเป็นคำไทยเป็นคำใหม่ แยกเป็นคำได้คือ นคร, ราช และ สีมา หมายความว่า “เมืองใหญ่อันเป็นขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักร” (ราช+สีมา) ส่วนคำว่า โคราช (สำเนียงถิ่น: โค-หฺราด , ไทยกลาง: โค-ราด, เขมร: โก-เรียช ) นั้น น่าจะเพี้ยนมาจาก นครราช (อ่านตามสำเนียงว่า คอน-หฺราด ซึ่งเป็นคำเรียกนครราชสีมาแบบย่อ ๆ ของชาวบ้าน) หรือ อังกอร์เรียจ ต่อมาลดรูปเป็น กอร์เรียจ และเพี้ยนเป็นโคราช ในที่สุด มากกว่าที่จะเพี้ยนมาจากโคราฆปุระ (Gorakhpur) ที่เป็นชื่อเมืองสมัยใหม่ในแคว้นเดียวกับเมืองอโยธยา (Ayodhya) ในอินเดีย ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

สมัยอยุธยา

เนื่องจากตั้งอยู่เป็นบริเวณที่เป็นชายขอบระหว่างรัฐที่มีอำนาจ เป็นรัฐกันชน นครราชสีมาจึงมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับความขัดแย้งระหว่างรัฐอยู่เสมอ เช่น ระหว่างสยามกับกัมพูชา หรือ ระหว่างสยามกับล้านช้าง หรือ ในบางครั้งได้มีความพยายามที่จะตั้งตัวเป็นรัฐอิสระไม่ขึ้นกับผู้ใด เฉกเช่นเดียวกับบรรดาเมืองใหญ่อื่น ๆ

ในสมัยเจ้าสามพระยา อยุธยาสามารถเอาชนะกัมพูชาได้ รวมทั้งได้ทำการรวบรวมหัวเมืองในลุ่มแม่น้ำมูลเข้ามาอยู่ในอำนาจ เมื่อพระบรมไตรโลกนาถได้สืบราชสมบัติต่อมามีการจัดระดับเมืองพระยามหานคร 8 หัวเมือง คือ พิษณุโลก ศรีสัชนาลัย สุโขทัย กำแพงเพชร นครศรีธรรมราช นครราชสีมา ตะนาวศรี และทวาย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เริ่มปรากฏชื่อเมืองนครราชสีมาเป็นเมืองสำคัญในขอบขัณฑสีมา และได้ดำรงความสำคัญสืบต่อมาในประวัติศาสตร์อยุธยาและรัตนโกสินทร์

ตามระบบระบบบรรดาศักดิ์ขุนนางไทย เจ้าเมืองนครราชสีมานับเป็นขุนนางระดับสูงมีบรรดาศักดิ์เป็น ออกญากำแหงสงครามรามภักดีพิรียภาหะ มีศักดินา 10,000 ไร่

ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กองทัพเมืองนครราชสีมาได้ถูกมอบหมายให้เป็นกำลังหลักในการโจมตีเมืองเสียมราฐ และภาคตะวันออกของทะเลสาบจนได้ชัยชนะเหนือพระยาละแวก ในที่สุด





เมืองโคราชสีมาในแผนที่ของ ลา ลูแบร์ พ.ศ. 2236
ครั้นถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเห็นว่าเป็นหัวเมืองใหญ่และมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากเป็นเมืองหน้าด่านของอยุธยาติดกับพรมแดนลาว (เข้าใจว่าเลยลำสะแทด ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูลเหนือเมืองพิมายเป็นเขตแดนลาว เพราะมีบันทึกไว้ในนิราศหนองคาย สอดคล้องกับวัฒนธรรมและภาษาที่เปลี่ยนไปด้วย) จึงโปรดให้ย้ายเมืองเสมา มาสร้างเมืองใหม่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน โดยมี เดอ ลามาร์ นายช่างชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ออกแบบ ขนาดกว้าง 1,000 เมตร ความยาว 1,700 เมตร มีกำแพงเมืองขนาดใหญ่ มีป้อมค่ายหอรบ และพระราชทานนามว่า “เมืองนครราชสีมา” ทรงโปรดให้พระยายมราช (สังข์)เป็นเจ้าเมือง ในคราวเดียวกันกับที่แต่งตั้ง เจ้าพระยารามเดโช เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช

เดอ ลาลูแบร์ ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้เขียนรายงานและบันทึกไว้ในจดหมายเหตุ ว่า เมืองโคราชสีมา (Corazema) เป็นหัวเมืองใหญ่ 1 ใน 7 มณฑล ตั้งอยู่ติดชายแดนของราชอาณาจักรสยามกับเมืองลาว มีเมืองบริวาร 5 เมือง

ในช่วงเริ่มต้นสองปีแรกของแผ่นดิน สมเด็จพระเพทราชา พระยายมราชเจ้าเมืองนครราชสีมาที่แต่งตั้งโดยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้แข็งเมือง เนื่องจากไม่พอใจสมเด็จพระเพทราชา ที่ก่อการยึดอำนาจและเปลี่ยนราชวงศ์ จึงไม่ขอขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา แต่ถูกกองทัพกรุงศรีอยุธยาใช้เวลาปราบปรามโดยล้อมเมืองอยู่ประมาณ 2 ปี โดยใช้อุบายและกลยุทธปราบลงได้ พระยายมราช เจ้าเมืองนครราชสีมาได้หนีไปพึ่ง เจ้าพระยารามเดโชเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งไม่พอใจสมเด็จพระเพทราชาเช่นกัน แต่ถูกกองทัพอยุธยาตามไปปราบปรามลงได้ นับแต่นั้นเมืองนครราชสีมาได้ถูกลดความสำคัญลงไม่เข้มแข็งดังแต่ก่อน

สมัยกรุงธนบุรี

หลังกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย เจ้าเมืองพิมายและกรมหมื่นเทพพิพิธได้ตั้งตัวเป็นชุมนุมอิสระที่สำคัญชุมนุมหนึ่งแต่ถูกปราบลงโดยพระเจ้าตาก หลังจากนั้นเมืองนครราชสีมาได้เป็นฐานกำลังทางทหารและการปกครองที่สำคัญของไทยมาโดยตลอด โดยในสมัยกรุงธนบุรีได้ถูกใช้เป็นฐานรวบรวมกำลังของ พระยาอภัยรณฤทธิ์ และ พระยาอนุชิตราชา ในการสงครามกับล้านช้างและกัมพูชา ในคราวสงครามตีเมืองเวียงจันทน์และได้พระแก้วมรกต หลวงยกกระบัตรเมืองพิมายอยู่ในทัพหน้า มีความดีความชอบจึงได้รับการแต่งตั้งเป็น พระยานครราชสีมา และ เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) ในที่สุด ต่อมาพระยากำแหงสงคราม (บุญคง) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองนครราชสีมา ในช่วงปลายรัชสมัยพระเจ้าตาก เมื่อเกิดการกบฏพระยาสรรค์ขึ้น พระสุริยอภัย กรรมการเมืองนครราชสีมา ได้นำกำลังทหารชาวนครราชสีมากลับเข้าควบคุมสถานการณ์ในกรุงธนบุรีไว้ได้ก่อนที่ เจ้าพระยาจักรี และ เจ้าพระยาสุรสีห์ จะยกทัพกลับมาจากกัมพูชาและเกิดการเปลี่ยนแผ่นดิน ในครั้งนั้น พระยากำแหงสงคราม (บุญคง) เจ้าเมืองนครราชสีมา ที่นำทัพไปกัมพูชาพร้อมกับ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ ถูกประหารชีวิตไปพร้อมกับเชื้อพระวงศ์ และขุนนางเดิมของพระเจ้าตาก จำนวนหนึ่ง และได้มีการเปลี่ยนตัวเจ้าเมืองนครราชสีมาเป็นพระยานครราชสีมา (เที่ยง) ผู้ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น)

สมัยรัตนโกสินทร์

ในรัชสมัยรัชกาลที่ 1 เมืองนครราชสีมามีฐานะเป็นเมืองชั้นเอก กำกับตรวจตราเมืองประเทศราช ๓ เมือง คือ เวียงจันทน์ นครพนม จำปาศักดิ์ ให้รวมทั้งปกครองหัวเมืองเขมร พระยานครราชสีมา (เที่ยง) เป็นผู้สำเร็จราชการ และในรัชสมัยรัชกาลที่ 1นี้ ชาวเมืองนครราชสีมาได้น้อมเกล้าถวายช้างเผือก 2 เชือก

ในสมัยรัชกาลที่ 2 เกิดกบฏ อ้ายสาเกียดโง้ง ที่จำปาศักดิ์ มีรับสั่งให้พระยานครราชสีมา (เที่ยง) นำกองทัพไปปราบ แต่ เจ้าอนุวงศ์ เจ้าประเทศราชเวียงจันทน์ส่งเจ้าราชวงศ์ไปปราบกบฏได้เสร็จสิ้นก่อน และเจ้าราชวงศ์ได้ครองเมืองจำปาศักดิ์ต่อมา ต่อมาทองอิน เชื้อสายของพระเจ้าตาก และบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) ได้เป็นผู้สำเร็จราชการต่อจากพระยานครราชสีมา (เที่ยง)

ในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์ ฉวยโอกาสที่เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) นำกองทหารไปราชการต่างเมือง ยกทัพลาวมายึดครองเมืองนครราชสีมา และส่งกองทหารไปกวาดต้อนครอบครัวลาวถึงเขตเมืองสระบุรีก่อนที่จะถอยทัพเมื่อกองทัพสยามจากพระนครเริ่มรวมพลได้ทัน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2369 ก่อนกองทัพลาวจะถอยทัพออกจากเมืองนครราชสีมา ไปยังทางเหนือเพื่อสมทบกับกองทัพของเจ้าสุทธิสาร โดยก่อนไป ได้ถอนเสาหลักเมืองออกเพื่อให้เป็นเมืองร้าง และเจ้าอนุวงศ์ได้สั่งการให้ทหารกองหลังรื้อกำแพงเมืองออก เผาประตูเมือง และสถานที่สำคัญๆในเมืองให้หมดสิ้น ให้ตัดต้นไม้ที่ให้ผลให้เหลือแต่ตอ ด้วยที่จะได้กลับมายึดเมืองนครราชสีมาได้สะดวกในภายหลัง ทำให้ต้นไม้ผลถูกตัดหมดสิ้น กำแพงเมืองจากมุมทิศอิสานและกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกถูกรื้อออกหมด กำแพงเมืองทางทิศใต้ถูกรื้อมาถึงด้านหลังวัดสระแก้ว ส่วนกำแพงเมืองจากมุมทิศอิสานและกำแพงเมืองทางทิศเหนือถูกรื้อ กำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกถูกรื้อออก 1 ส่วนเหลือ 2 ส่วน ประตูเมืองถูกเผาบางส่วน 3 ประตูคือ ประตูเมืองทางทิศตะวันเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันออก ชาวเมืองนครราชสีมาผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไม่ได้ถูกกวาดต้อน ได้รับข่าวว่ากองทัพจากพระนครที่ส่งกำลังมาช่วยเหลือ กำลังจะเดินทัพมามาถึงทุ่งโพธิ์เตี้ยห่างจากเมืองนครราชสีมา 10 กม. ในอีกไม่นาน ทำให้กำลังทหารลาวกองหลังของเจ้าอนุวงศ์ที่กำลังทำรื้อกำแพง และเผาทำลายเมืองนครราชสีมาอยู่นั้น เกิดความหวาดกลัวและถอยทัพออกไป ทำให้เมืองนครราชสีมาถูกเผาทำลายลงไปเพียงบางส่วน ส่วนชาวเมืองนครราชสีมาที่ถูกกวาดต้อนไปนั้น ได้รวมตัวกันต่อต้านกองทัพลาวของเจ้าอนุวงศ์ โดยมีพระยาปลัดนครราชสีมา พระยายกกระบัตร และ พระณรงค์สงคราม (มี) เป็นผู้นำในการรบ ณ ทุ่งสัมฤทธิ และผู้นำในการสนับสนุนช่วยเหลือการรบ คือ คุณหญิงโม ภริยาปลัดเมืองนครราชสีมา ต่อมากองทัพชาวนครราชสีมาได้ร่วมกับกองทัพหลวงของกรมพระราชวังบวรฯ ในการรบครั้งต่อๆมาจนกระทั่งเข้ายึดเมืองเวียงจันทน์ได้ในที่สุด ภายหลัง คุณหญิงโมได้รับการแต่งตั้งเป็นท้าวสุรนารี และ พระณรงค์สงครามได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาณรงค์สงคราม

ในการสงครามเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) และพระยาณรงค์สงคราม ได้เป็นทัพหน้าของกองทัพที่นำโดยเจ้าพระยาบดินทรเดชานำพลชาวนครราชสีมาทำการรบอย่างกล้าหาญในสงครามกับเวียดนาม และสามารถรุกไปถึงเขตแดนเมืองไซ่ง่อน ก่อนที่จะต้องถอยทัพเนื่องจากกองทัพไทยพ่ายแพ้ในแนวรบด้านอื่น ต่อมาพระยาณรงค์สงคราม ได้เป็นนายทัพสำคัญในกองทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชา จนสิ้นสุดสงคราม

เมื่อ เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ถึงแก่กรรม พระพรหมบริรักษ์ (เกษ) บุตรชายคนโตของเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เจ้าเมืองนครราชสีมาคนต่อมา

เมื่อว่างเว้นจากสงคราม เมืองโคราชได้ฟื้นตัวขึ้นใหม่กลายเป็นชุมทาง การค้าที่สำคัญ ในการติดต่อระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคกลาง มีกองเกวียน กองคาราวานการค้า ขนาดใหญ่ผ่าน และ หยุดพักอยู่เสมอ

ในสมัยรัชกาลที่ 4 บาทหลวงปาลเลกัวซ์ ได้เขียนว่า ตัวเมืองโคราชล้อมรอบด้วยกำแพงตั้งอยู่บนที่ราบสูง เดินทางจากบางกอกใช้เวลา 6 วันโดยไต่ระดับสูงขึ้นไปตามเส้นทาง ดงพญาไฟ ประชากรโคราชมีประมาณ 60,000 คน ครึ่งหนึ่งเป็นคนสยาม อีกครึ่งหนึ่งเป็นคนเขมร ในตัวเมืองมีประชากร 7,000 คน มีคนจีนประมาณ 700 คน มีเหมืองแร่ทองแดง มีโรงหีบอ้อย สินค้า คือ ข้าว งาช้าง หนังสัตว์ เขาสัตว์ ไม้เต็ง อบเชย

ในรัชกาลนี้ เจ้าพระยานครราชสีมา (เกษ) ได้เลื่อนเป็น เจ้าพระยามุขมนตรี (เกษ) และ เจ้าเมืองนครราชสีมาคนต่อมาคือ พระยานครราชสีมา (แก้ว) บุตรชายคนรองของเจ้าพระยาบดินทรเดชา หลังจากนั้น พระยานครราชสีมา (แก้ว) ได้เลื่อนเป็น เจ้าพระยายมราช (แก้ว) และ เจ้าเมืองคนต่อมาคือ พระยานครราชสีมา (เมฆ) บุตรชายคนโตของ เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน)

ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระยานครราชสีมา (เมฆ) บุตรของ เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ได้เป็นแม่ทัพบกไปปราบจีนฮ่อที่เมืองหนองคาย ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งมณฑลนครราชสีมาเพื่อควบคุมดูแลหัวเมืองในบริเวณใกล้เคียง เป็นมณฑลแรกของประเทศ มีพระยานครราชสีมา (กาจ สิงหเสนี) บุตรเขยของพระยานครราชสีมา (เมฆ) เป็นผู้ว่าราชการคนแรก มีการจัดตั้งกองทหารประจำมณฑลตามหลักสากล มีการตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจที่นครราชสีมา มีการสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ผ่านอยุธยา สระบุรี ดงพญาไฟ ไปสู่นครราชสีมา จนเปิดการเดินรถไฟหลวง สายกรุงเทพ – นครราชสีมา ได้สำเร็จ การคมนาคมติดต่อสะดวกขึ้นเป็นอย่างมาก ในช่วงเดียวกันฝรั่งเศสได้เข้ามามีอำนาจเหนือคาบสมุทรอินโดจีน ทำให้สยามจำต้องเร่งการปรับปรุงพัฒนาราชอาณาจักรโดยเฉพาะในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการจัดตั้งการขนส่งปรษณียภัณฑ์ทางอากาศ และ สายการบินระหว่าง กรุงเทพ – นครราชสีมา มีการขยายเส้นทางรถไฟสายอีสาน จนสามารถขยายเส้นทางการเดินรถไฟจาก นครราชสีมา ถึง ขอนแก่น และ นครราชสีมา ถึง อุบลราชธานี ได้สำเร็จในสมัยรัชกาลที่ 7

ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระองค์เจ้าบวรเดช ได้รวบรวมกองกำลังทหารจากมณฑลนครราชสีมาเป็นหลัก ร่วมกับ พันเอกพระยาศรีสิทธิ์สงคราม เพื่อทำการต่อสู้กับคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะผู้ก่อการได้ยกกองกำลังเข้ามาล้อมกรุงเทพฯ แต่เมื่อการต่อสู้ยืดเยื้อในที่สุดก็ต้องถอยทัพและประสบความพ่ายแพ้เนื่องจากมีกำลังที่น้อยกว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ พันโทหลวงพิบูลสงครามผู้บัญชาการกองกำลังผสมฝ่ายรัฐบาล มีอำนาจในการควบคุมกำลังทหารมากขึ้นส่งผลให้ได้อำนาจทางการเมืองและจัดตั้งรัฐบาลทหารได้ในเวลาต่อมา

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กองทหารในสังกัด มณฑลทหารบกที่ 3 นครราชสีมา ได้ทำการร่วมรบในกรณีพิพาทอินโดจีน กองทัพไทยสามารถยึดดินแดนกลับคืนมาบางส่วน เป็นการชั่วคราว หลังสงครามยุติสหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือสร้างถนนมิตรภาพ จาก สระบุรี ถึง นครราชสีมา ซึ่งเป็นทางหลวงที่ได้มาตรฐานดีที่สุดของประเทศในขณะนั้น

ในช่วงสงครามเวียดนาม สหรัฐอเมริกาได้ขอใช้นครราชสีมาเป็นฐานบัญชาการการรบ มีการสร้างฐานบินโคราช และต่อมาไทยได้เปลี่ยนให้เป็น กองบิน 1 ซึ่งเป็นฐานกำลังรบทางอากาศหลักของกองทัพอากาศไทยในปัจจุบัน โดยมีมีเครื่องบิน F-16 ประจำการอยู่สองฝูงบิน

ในปี พ.ศ. 2523 มีความพยายามรัฐประหารโดยกลุ่มทหารของ พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา แต่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์นายกรัฐมนตรี ได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ทรงแปรพระราชฐานไปประทับที่นครราชสีมา กองกำลังทหารจากกองทัพภาคที่ 2 นำโดยพลตรี อาทิตย์ กำลังเอกได้เป็นกองกำลังหลักในการปราบกบฏลงได้ในที่สุด หลังจากนั้น อดีตผู้บัญชาการกองทัพภาคที่ 2 หลายท่านได้ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในเวลาต่อมา

เนื่องจากความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ปัจจุบัน นครราชสีมา จึงได้กลายเป็นเมืองศูนย์ราชการที่สำคัญที่สุดรองจากกรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การเงิน การศึกษา การสาธารณสุข การวิจัย การคมนาคม และ การอุตสาหกรรม ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งเป็นที่ตั้งของกองฐานกำลังรบหลักของกองทัพบก และกองทัพอากาศในปัจจุบัน เปรียบได้ว่าเป็นเมืองหลวงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในปี พ.ศ. 2553 ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากฝนช่วงปลายฤดูตกหนักในบริเวณต้นแม่น้ำมูล นับเป็นอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 50 ปี

ภูมิศาสตร์

ภูมิประเทศ

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่บนที่ราบสูงโคราช ห่างจากกรุงเทพ 259 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 20,493.964 ตารางกิโลเมตร (12,808,728 ไร่) เป็นพื้นที่ป่าไม้ 2,297,735 ไร่ โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติคืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลานร้อยละ 61.4 และเป็นแหล่งน้ำ 280,313 ไร่[3] ทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดชัยภูมิ และขอนแก่น ทิศใต้ติดต่อกับจังหวัดปราจีนบุรี นครนายก และสระแก้ว ทิศตะวันออกติดต่อกับจังหวัดบุรีรัมย์ และทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดสระบุรี ชัยภูมิ และลพบุรี

พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางระหว่าง 150-300 เมตร มีเทือกเขาสันกำแพง และเทือกเขาพนมดงรัก เป็นแนวยาวทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตก ส่วนบริเวณตอนล่างค่อนไปทางเหนือและตะวันออกเป็นที่ราบลุ่ม โดยมีลำตะคองและลำน้ำสาขาอื่น ๆ ไหลหล่อเลี้ยงบริเวณด้านเหนือของเมือง และ เป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำสำคัญคือแม่น้ำมูลซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศของจังหวัดนครราชสีมาจัดอยู่ในประเภททุ่งหญ้าเขตร้อน มีลมมรสุมหลักพัดผ่านคือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้อากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง กับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้มีอากาศชุ่มชื้นและมีฝนตกชุก โดยทั่วไปสามารถแบ่งฤดูกาลออกได้เป็น 3 ฤดู คือ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม มีฝนตกชุก ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนตุลาคม โดยมีปริมาณน้ำฝนสูงสุดในเดือนตุลาคม ฤดูหนาว สภาพอากาศจะเริ่มเปลี่ยนจากฤดูฝนไปสู่ฤดูหนาวตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ระยะนี้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นลมหนาวและแห้งพัดจากประเทศจีน และฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงกลางเดือนพฤษภาคม

เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมาเป็นพื้นที่ราบสูง มีป่าและทิวเขาสูงกั้นเขตแดนเป็นแนวยาว อากาศจึงค่อนข้างร้อนอบอ้าวในฤดูร้อน และในฤดูหนาวก็ค่อนข้างหนาวเย็นโดยอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 27.4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22.7 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 33 อาศาเซลเซียส มีค่าความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดทั้งปี 71 % ความชื้นสัมพัทธ์สูงสุดเฉลี่ย 89% ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำสุดเฉลี่ย 49 %

ข้อมูลการปกครอง

การปกครองส่วนภูมิภาค

แบ่งปกครองแบ่งออกเป็น 32 อำเภอ 289 ตำบล 3743 หมู่บ้าน เนื้อที่รวม 20,493.968 ตารางกิโลเมตร



1.อำเภอเมืองนครราชสีมา
2.อำเภอครบุรี
3.อำเภอเสิงสาง
4.อำเภอคง
5.อำเภอบ้านเหลื่อม
6.อำเภอจักราช
7.อำเภอโชคชัย
8.อำเภอด่านขุนทด
9.อำเภอโนนไทย
10.อำเภอโนนสูง
11.อำเภอขามสะแกแสง
12.อำเภอบัวใหญ่
13.อำเภอประทาย
14.อำเภอปักธงชัย
15.อำเภอพิมาย
16.อำเภอห้วยแถลง

17.อำเภอชุมพวง
18.อำเภอสูงเนิน
19.อำเภอขามทะเลสอ
20.อำเภอสีคิ้ว
21.อำเภอปากช่อง
22.อำเภอหนองบุญมาก
23.อำเภอแก้งสนามนาง
24.อำเภอโนนแดง
25.อำเภอวังน้ำเขียว
26.อำเภอเทพารักษ์
27.อำเภอเมืองยาง
28.อำเภอพระทองคำ
29.อำเภอลำทะเมนชัย
30.อำเภอบัวลาย
31.อำเภอสีดา
32.อำเภอเฉลิมพระเกียรติ

เศรษฐกิจ

โครงสร้างเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดนครราชสีมามีโครงสร้างที่สำคัญ ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และการค้าส่งค้าปลีก ซึ่งมีอัตราสัดส่วนโครงสร้างร้อยละ 22.46, 19.82 และ 14.91 ตามลำดับ[4] ในภาคการเกษตร จังหวัดมีพื้นที่เกษตรกรรมทั้งสิ้น 8,931,032 ไร่ แบ่งเป็น ปลูกข้าว จำนวน 4,329,724 ไร่ พืชไร่จำพวกข้าวโพด มันสำปะหลัง [[ปอ[[ ฝ้าย และข้าวฟ่าง จำนวน 3,793,602 ไร่ และปลูกพืชสวน 632,170 ไร่ มีครัวเรือนเกษตรกรรวมทั้งสิ้น 326,587 ครัวเรือน[4] โดยมีพืชเศรษฐกิจ 3 อันดับแรก คือ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด การเลี้ยงไหมโดยเฉพาะที่อำเภอปักธงชัยเป็นแหล่งผ้าไหมที่ขึ้นชื่อ อาชีพการทำป่าไม้ และการประมงน้ำจืดตามลุ่มน้ำ

ในภาคอุตสาหกรรม ปี พ.ศ. 2553 จังหวัดนครราชสีมามีโรงงานทั้งสิ้น 2,398 โรงงาน มีมูลค่าการลงทุน ประมาณ 119 ล้านบาท[4] ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมการเกษตรมีสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 18.84 อุตสาหกรรมขนส่งเฉลี่ยร้อยละ 12.27 อุตสาหกรรมอโลหะเฉลี่ยร้อยละ 11.38 และอุตสาหกรรมอาหารเฉลี่ยร้อยละ 10.02[5] สำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ มีแร่ที่สำคัญคือ หินบะซอลต์ หินปูน และ เกลือหิน โดยเฉพาะเกลือหิน พบมากในตอนเหนือและตอนกลางของจังหวัด

ปี พ.ศ. 2553 จังหวัดนครราชสีมามีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product – GPP) เท่ากับ 187,693 ล้านบาท และ ผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อคน (GPP per capita) เท่ากับ 66,670 บาท[6]

ภาคการเงินการธนาคาร จังหวัดนครราชสีมามีจำนวนสำนักงานของธนาคารทั้งสิ้น 125 สำนักงาน เงินรับฝากรวมทุกประเภท (ก.ค.2555) ทั้งสิ้น 108,245 ล้านบาท และ เงินให้สินเชื่อรวมทุกประเภท (ก.ค.2555) ทั้งสิ้น 109,406 ล้านบาท [7]

นักลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างชาติต่างให้ความสำคัญกับจังหวัดนี้มาก จึงได้ตั้งฉายาให้กับจังหวัดนี้ว่าเป็น “มหานครแห่งอีสาน” เป็นเสมือนเมืองหลวงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะเป็นศูนย์กลางทางด้านต่าง ๆ ของภูมิภาค ได้แก่ การปกครอง การศึกษา การสาธารณสุข การคมนาคมขนส่ง การอุตสาหกรรม การเงินการธนาคาร การพาณิชย์ การลงทุน การสื่อสารโทรคมนาคม ฯลฯ มีคำขวัญของเมืองโคราชว่า มหานครแห่งอีสาน เมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ประตูเชื่อมโยงพันธมิตร สร้างเศรษฐกิจสู่สากล

ข้อมูลประชากร

จังหวัดนครราชสีมามีประชากร ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ทั้งสิ้น 2,603,038 คน แยกเป็นชาย 1,287,037 คนและหญิง 1,316,001 คน[8] มีเด็ก มีจำนวนบ้านทั้งสิ้น 802,134 หลัง

กลุ่มประชากร

ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมามีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมากเป็นอันดับสองของประเทศรองจากกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยประชากรหลากหลายเชื้อชาติหรือหลายชาติพันธุ์ แต่กลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดนครราชสีมาที่มีจำนวนมากมีอยู่สองกลุ่มใหญ่คือ ไทย (หรือเรียกอีกอย่างว่า ไทยโคราช) และอีกกลุ่มคือ ลาว (หรือไทยอีสาน) และมีชนกลุ่มน้อยอีกได้แก่ มอญ กุย (หรือส่วย) ชาวบน จีน ไทยวน ญวน และแขก

ไทยโคราช





ชาวไทยสยามเก็บน้ำตาล
กลุ่มชาติพันธุ์ไทยที่อยู่ในนครราชสีมาเรียกอีกอย่างว่า ไทยโคราช เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดในจังหวัดนครราชสีมา คนกลุ่มนี้ใช้ภาษาเหมือนไทยในส่วนกลาง เพียงแต่เสียงวรรณยุกต์เพี้ยนไปบ้าง และมีคำศัพท์สำนวนบางอย่างที่มีลักษณะเป็นของตนเอง เดิมถิ่นนี้ชาวพื้นเมืองเป็นละว้า ชาวไทยได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัย สมัยกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอู่ทองให้ขุนหลวงพะงั่วยกกองทัพมารวบรวมดินแดนแถบนี้เข้ากับกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอู่ทองโปรดฯ ให้กองทหารอยุธยาตั้งด่านอยู่ประจำ และส่งช่างชาวอยุธยามาก่อสร้างบ้านเรือนและวัดวาอารามเป็นอันมาก ชาวไทยอยุธยาได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และได้อพยพมาอยู่นครราชสีมาอีกระลอกหนึ่งคือ คราวเสียกรุงครั้งที่ 2 โดยมีชาวไทยชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกได้อพยพเข้ามาเพิ่มด้วย ชาวไทยกลุ่มนี้และชาวไทยพื้นเมืองเดิม (เข้าใจว่าเป็นชาวสยามลุ่มน้ำมูล (ไท-เสียม) อาจมีเขมรและมอญปนอยู่ด้วย) สืบเชื้อสายเป็นชาวไทยโคราชและรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีสืบทอดกันมา

กลุ่มไทยโคราชเป็นกลุ่มที่แสดงเอกลักษณ์ของเมืองนครราชสีมา เพราะสำเนียงแตกต่างจากกลุ่มอื่น เป็นกลุ่มที่พูดภาษาไทยโคราชซึ่งคล้ายคลึงภาษาไทยกลางแต่สำเนียงเพี้ยน เหน่อ ห้วนสั้น เกิ่นเสียง มีคำไทยลาว (อีสาน) ปะปนบ้างเล็กน้อย ชาวไทยโคราชแต่งกายแบบไทยภาคกลาง รับประทานข้าวเจ้า อาหารทั่วไปคล้ายคลึงภาคกลาง ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมคล้ายไทยภาคกลาง ปัจจุบัน กลุ่มไทยโคราชอาศัยอยู่ในทุกอำเภอในจังหวัดนครราชสีมา ยกเว้นบางอำเภอที่มีชาวไทยลาวมากกว่า (อำเภอบัวใหญ่ ปักธงชัย และสูงเนิน) และยังพบชาวไทยโคราชในบางส่วนของจังหวัดสระบุรี จังหวัดลพบุรี จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอบำเหน็จณรงค์และจัตุรัส) และจังหวัดบุรีรัมย์ (อำเภอเมืองบุรีรัมย์ นางรอง และละหานทราย)

ลาว

ลาว (ลาวเวียง ไทยลาว หรือไทยอีสาน) เป็นกลุ่มหนึ่งที่มีจำนวนประชากรมากรองจากกลุ่มไทยโคราช แต่อพยพเข้ามาทีหลัง อาศัยอยู่มากในบางอำเภอของจังหวัดนครราชสีมา เช่น อำเภอบัวใหญ่ อำเภอปักธงชัย อำเภอสูงเนิน และบางส่วนของอำเภอประทาย อำเภอห้วยแถลง อำเภอชุมพวง และอำเภอสีคิ้ว เป็นต้น ไทยอีสานพูดภาษาอีสานและมีขนบธรรมเนียมประเพณีเหมือนชาวอีสานทั่วไป กลุ่มไทยอีสานอพยพเข้ามาอยู่ในจังหวัดนครราชสีมาหลายรุ่น ส่วนใหญ่อพยพเข้ามาอยู่สมัยสงครามปราบปรามเมืองเวียงจันทน์ สมัยธนบุรี มีการกวาดต้อนครอบครัวลาวเข้ามาอยู่ในหัวเมืองชั้นใน และอพยพเข้ามาโดยสมัครใจเพิ่มขึ้นในระยะหลัง

มอญ

จากการสำรวจสำมะโนประชากรของจังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2446 ในสมัยรัชกาลที่ 5 พบว่า มีชาวมอญอยู่จำนวน 2,249 คน จากจำนวนประชากรของนครราชสีมา 402,668 คน ชาวมอญอพยพเข้ามาอยู่บริเวณเมืองนครราชสีมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2318 ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระราชทานครัวมอญที่อพยพเข้ามาสวามิภักดิ์ มีพระมหาโยธา (เจ่ง) เป็นหัวหน้า แบ่งให้พระยานครราชสีมานำขึ้นมาอยู่ที่เมืองนครราชสีมา ตั้งครัวมอญที่ลำพระเพลิง เขตอำเภอปักธงชัยที่บ้านพลับพลา อำเภอโชคชัย พระยาศรีราชรามัญผู้เป็นหัวหน้าพาญาติพี่น้องมาอยู่ในเมืองเป็นสายกองส่วยทอง ตั้งบ้านเรือนเรียกว่าบ้านมอญ เมื่อเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ เมื่อปี พ.ศ. 2336 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรีย) คุมกองมอญมาสมทบมาร่วมรบกับกำลังฝ่ายไทย เมื่อเสร็จศึกแล้วพวกมอญเห็นเมืองปักธงชัยอุดมสมบูรณ์จึงมาตั้งถิ่นฐาน ปัจจุบันชาวมอญในนครราชสีมายังรักษาวัฒนธรรมประเพณีมอญไว้ เช่น ภาษา การไหว้ผี การเล่นสะบ้าในเขตบ้านท่าโพธิ บ้านสำราญเพลิง ตำบลนกออก อำเภอปักธงชัย ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน ทำเครื่องปั้นดินเผา ภาษามอญจะใช้พูดในชาวไทยมอญที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป คนรุ่นหลังจากนี้จะพูดภาษาไทยโคราชทั้งสิ้น

ส่วย

ส่วย หรือ ข่า เป็นชนพื้นเมืองของหัวเมืองเขมรป่าดงและเมืองนครราชสีมา พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร ได้อยู่ในพื้นที่นี้ก่อนที่คนไทยจะเข้ามามีอิทธิพลเหนือดินแดนบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนบน เมื่อปี พ.ศ. 2362 เจ้าเมืองนครราชสีมา (ทองอินทร์) ตีข่าได้ แล้วนำมายังเมืองนครราชสีมา ภาษาส่วย เป็นภาษาของชาวส่วยที่อพยพมาจากจังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดบุรีรัมย์ ที่มาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ ตำบลห้วยแถลง อำเภอห้วยแถลง ปัจจุบันมีเฉพาะผู้ที่อายุเกิน 40 ปีขึ้นไป ที่ยังคงใช้ภาษาส่วยในกลุ่มของตนเอง นอกจากนั้นจะใช้ภาษาไทยโคราชเป็นพื้น

ญัฮกุร

ญัฮกุร หรือ เนียะกุล เป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ตามไหล่เขาหรือเนินเขาเตี้ย ๆ บริเวณด้านในของที่ราบสูงโคราช ชาวบนอาจสืบเชื้อสายมาจากคนในสมัยทวารวดี อยู่ในบางหมู่บ้านของอำเภอปักธงชัย อำเภอครบุรี และอำเภอหนองบุญมาก ภาษาชาวบน เป็นภาษาตระกูลมอญ-เขมร ปัจจุบันชาวบนพูดภาษาชาวบนเฉพาะผู้ที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป นอกจากนั้นใช้ภาษาไทยโคราช

ไทยวน

ไทยยวน หรือ ไทยโยนก เป็นเผ่าไทยในภาคเหนือของไทย ได้อพยพเข้ามาอยู่ที่อำเภอสีคิ้วสองทางด้วยกันคือ พวกแรกอพยพจากทางเหนือมาอยู่ที่อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ต่อมาเจ้าเมืองสระบุรีต้องการตั้งกองเลี้ยงโคนมที่เมืองนครจันทึก จึงได้แบ่งครอบครัวชาวไทยยวนจากอำเภอเสาไห้ไปอยู่ที่อำเภอสีคิ้ว ส่วนอีกพวกหนึ่งอพยพมาจากเวียงจันทน์ ชาวไทยยวนยังรักษาประเพณีและวัฒนธรรมแบบโยนกไว้ได้ดีมาก ภาษาไทยยวน ใช้พูดในหมู่ไทยยวนด้วยกันเองซึ่งมีอยู่ประมาณ 5,000 คน ในเขตอำเภอสีคิ้ว ในท้องที่ตำบลลาดบัวขาว ตำบลสีคิ้ว และตำบลบ้านหัน

นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม ชาวจีน ชาวเวียดนาม และชาวแขก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น