จังหวัดลำพูน เดิมชื่อเมืองหริภุญไชย เป็นเมืองโบราณ มีอายุประมาณ 1,343 ปี ตามพงศาวดารโยนกเล่าสืบต่อกันถึงการสร้างเมืองหริภุญไชย โดยฤาษีวาสุเทพ เป็นผู้เกณฑ์พวกเม็งคบุตร หรือ ชนเชื้อชาติมอญมาสร้างเมืองนี้ขึ้น ในพื้นที่ระหว่างแม่น้ำสองสาย คือ แม่น้ำกวง และแม่น้ำปิง เมื่อมาสร้างเสร็จได้ส่งทูตไปเชิญ ราชธิดากษัตริย์เมืองละโว้พระนาม “จามเทวี” มาเป็นปฐมกษัตริย์ปกครองเมืองหริภุญไชย สืบราชวงศ์กษัตริย์ ต่อมาหลายพระองค์ จนกระทั่งถึงสมัยพระยายีบาจึงได้เสียการปกครองให้แก่พ่อขุนเม็งรายมหาราช ผู้รวบรวม แว่นแคว้นทางเหนือเข้าเป็นอาณาจักรล้านนา เมืองลำพูน ถึงแม้ว่า จะตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านนา แต่ก็ได้เป็นผู้ถ่ายทอดมรดกทางศิลปและวัฒนธรรมให้แก่ผู้ที่เข้ามาปกครอง ดังปรากฏหลักฐานทั่วไปในเวียงกุมกาม เชียงใหม่และเชียงราย เมืองลำพูนจึงยังคงความสำคัญในทางศิลปะและวัฒนธรรมของอาณาจักรล้านนา จนกระทั่งสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมืองลำพูนจึงได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย มีผู้ครองนครสืบต่อกันมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เมื่อเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้าย คือ พลตรีเจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์ ถึงแก่พิราลัย เมืองลำพูนจึงเปลี่ยนเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ปกครอง สืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
“ เมืองโบราณหริภุญไชย” อาณาจักรอันรุ่งเรืองและเก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ แบ่งเป็น ๕ ยุค คือ
- ยุคก่อนประวิติศาสตร์
- ยุคประวัติศาสตร์แรกเริ่ม
- ยุคล้านนา
- ยุคต้นรัตนโกสินทร์
- ยุคการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
“ยุคก่อนประวัติศาสตร์” ประมาณ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ ปี แหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮ เป็นชุมชนโบราณยุคแรก ที่ปรากฏหลักฐาน ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกวง ในเขต ต.เวียงยองอ.เมืองลำพูน กลุ่มชนที่นี่คือเผ่าพันธุ์ดั้งเดิมที่อยู่อาศัยในดินแดนแถบนี้ก่อนที่จะรับวัฒนธรรมในรูปแบบใหม่ที่แผ่ขยายเข้ามาและผสมผสานกับวัฒนธรรมเดิม
“ยุคประวัติศาสตร์แรกเริ่ม” พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๙ อาณาจักรหริภุญไชย ก่อตั้งขึ้นโดยได้รับแบบอย่าง วัฒนธรรมทวารวดี จากลุ่มน้ำเจ้าพระยาในภาคกลางที่มีระเบียบแบบแผน ทั้งการปกครองศาสนา ศิลปวัฒนธรรม รุ่งเรืองในด้านการค้าเศรษฐกิจ มีกษัตริย์ปกครอง ที่ต้องทำนุบำรุงศาสนา และประชาชนศรัทธาพุทธศาสนาอย่างยิ่งมีปฐมกษัตรีย์ คือ พระนางจามเทวี
“ยุคล้านนา” พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๑ พญามังรายได้ย้าย ศูนย์กลางการปกครองไปเชียงใหม่และให้เมืองหริภุญไชยเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา ทำให้พุทธศาสนาประดิษฐานอย่างมั่นคงและต่อเนื่องในดินแดนหริภุญไชย
“ยุคต้นรัตนโกสินทร์” พุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕ เป็นยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง ในช่วงที่พม่าครอบครอง ดินแดนล้านนา เกิดสงครามขึ้นบ่อยครั้ง ชาวเมืองพากันหลบหนีเข้าป่า ปล่อยบ้านเมืองร้างพญากาวิละ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้แต่งตั้งน้องชาย คือ พระยาบุรีรัตน์ (คำฝั้น)มาครองเมืองลำพูนและได้อพยพผู้คนชาวยอง มาสร้างบ้าน แปงเมืองใหม่โดยตั้งถิ่นฐานที่อยู่แถบ ริมน้ำกวง น้ำปิง และน้ำทาชาวยองได้นำวัฒนธรรม ศิลปกรรม และงานช่างต่างๆ มาด้วย ยุคนี้บ้านเมืองสงบสุข ร่มเย็น
“ยุคปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยยกเลิกการปกครองแบบ เจ้าผู้ครองนครมีการแต่งตั้งข้าหลวงประจำเมือง มาปกครองเมืองลำพูน รวมหัวเมืองที่อยู่ใกล้เคียงตั้งเป็นมณฑล มีข้าหลวงใหญ่ปกครองขึ้นตรงต่อสยามมีการสร้างทางรถไฟสายเหนือ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น